หน้าแรก    |    ประวัติความเป็นมา    |    อัลบั๊มภาพ    |    หลักสูตรธรรมศึกษา    |    ภาพกิจกรรม    |    ตารางปฎิบัติธรรม    |    ข้อมูลติดต่อ
 



อารัมภภาค - ธรรมศึกษาตรี


ความเป็นมา
การศึกษาพระปริยัติธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม” เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย* เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างออกไป
ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเท่านั้นแม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัยก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วยโดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า”ธรรมศึกษา” มีครบทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรมและอุโบสถศีลแทน หลักสูตรธรรมศึกษาได้เปิดสอนและสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ และเปิดสอนครบทุกชั้นในเวลาต่อมามีฆราวาสทั้งหญิงและชายเข้าสอบเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ สนามหลวงแผนกธรรมได้ปรับเนื้อหาหลักสูตรธรรมศึกษาให้น้อยลง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีหลักสูตรที่ต้องเรียนต้องศึกษาในสถาบันการศึกษาอยู่แล้วเป็นปกติ การเรียนธรรมศึกษาที่มีเนื้อหาวิชามากเกินไปอาจเป็นภาระที่หนักสำหรับผู้เรียน สำหรับธรรมศึกษาชั้นตรีนี้ เนื้อหาวิชาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เป็นเนื้อหาวิชาที่ได้ปรับลดแล้วจากหลักสูตรเดิม

-------------------------------------------------------------
* การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ไทยแต่ดบราณนิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี

วัตถุประสงค์ของการเรียนธรรมศึกษา

  1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาและสำนึกในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
  2. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย
  3. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและหลักธรรมอย่างถูกต้อง
  4. เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
  5. เพื่อให้ผู้เรียนรู้หน้าที่ของชาวพุทธและสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

หลักสูตรธรรมศึกษาที่ใช้ในปัจจุบัน มีขอบข่ายการเรียนการสอนดังนี้

วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ มี ๕ หมวด คือ ๑) ทานวรรค ๒) ปาปวรรค ๓) ปุญญวรรค ๔) สติวรรค ๕) สีลวรรค
วิชาธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือนวโกวาทแผนกธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติมีหมวดธรรม ดังนี้

ทุกะ หมวด ๒

- ธรรมมีอุปการะมาก ๒
- ธรรมเป็นโลกบาล ๒
- ธรรมอันทำให้งาม ๒
- บุคคลหาได้ยาก ๒

ติกะ หมวด ๓

- รตนะ ๓
- คุณของรตนะ ๓
- โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓
- ทุจริต ๓
- สุจิต ๓
- อกุศลมูล ๓
- กุศลมูล๓
- สัปปุริสบัญญัติ ๓
- บุญกิริยาวัตถุ ๓

จตุกกะ หมวด

- วุฑฒิ ๔
- จักร ๔
- อคติ ๔
- ปธาน ๔
- อธิษฐานธรรม ๔
- อิทธิบาท ๔
- ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน
- พรหมวิหาร ๔
- อริยสัจ ๔

ปัญจกะ หมวด ๕

- อนันตริยกรรม ๕
- อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕
- ธัมมัสสวนานิสงส์ ๕
- พละ ๕
- ขันธ์ ๕

ฉักกะ หมวด ๖

- คารวะ ๖ - สาราณียธรรม ๖

สัตตกะ หมวด ๗

-อริยทรัพย์ ๗ -สัปปุริสธรรม ๗

อัฏฐกะ หมวด  

-โลกธรรม ๘

ทสกะ หมวด ๑๐

-บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐



คิหิปฏิบัติ

จตุกกะ

- ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔
- สัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔
- มิตตปฏิรูป ๔
- มิตรแท้ ๔
- สังคหวัตถุ ๔
- ธรรมของฆราวาส ๔

ปัญจกะ

- มิจฉาวณิชชา ๕ - สมบัติของอุบาสก ๕

ฉักกะ

- ทิศ ๖ - อบายมุข ๖
วิชาพุทธประวัติ
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑-๒-๓ปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺ
เทวมหาเถร) และศาสนพิธี เล่ม ๑ ขององค์การศึกษา
วิชาวินัย (เบญจศีล-เบญจธรรม)
หลักสูตร ใช้หนังสือเบญจศีลเบญจธรรม ของสมเด็จพระพุทโฆษาจารณ์ (เจริญ ญาณวรมหาเถร)
วิธีตรวจในสนามหลวง
การตรวจประโยคธรรมสนามหลวงและธรรมศึกษาของสนามหลวง ความประสงค์เพื่อทราบความรู้ของนักเรียนตามความเป็นจริง เป็นทางให้ผู้ศึกษาเจริญในวิทยาคุณและจริยสมบัติ สืบอายุพระพุทธศาสนา และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป

ข้อสอบของธรรมศึกษาทุกชั้น เว้นเรียงความแก้กระทู้ธรรม ปัญหาที่ออกสอบเป็นแบบปรนัย คือเลือกคำตอบที่บอกมาแล้วในแต่ละข้อ แต่ต้องเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดในแต่ละข้อซึ่งมีที่ถูกที่สุดเพียงข้อละคำตอบเดียว นักเรียนจะต้องเลือกตอบข้อที่ถูกเท่านั้น เลือกตอบผิดเป็นไม่ได้คะแนน เป็นการถามทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความจำ และความคิดไปในตัวด้วย

เฉพาะใบตอบของธรรมศึกษาทุกชั้น เว้นกระทู้ ข้อสอบแต่ละวิชามี ๕๐ ข้อ ๆ ละ ๒ คะแนน ให้ตรวจไปตามใบเฉลยฉบับที่เฉลยไว้ให้ ตรวจแต่ละฉบับแล้ว ให้นับข้อรวม

ในกรณีที่นักเรียนธรรมศึกษากากบาทลงในช่องคำตอบในข้อเดียวกันหลายคำตอบ ถือว่าข้อนั้นๆเป็นผิด ไม่ได้คะแนน หากมีรอย ขูด ลบ ขีด ฆ่าไว้แต่พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่านักเรียนตกลงใจตอบคำตอบในข้อไหนได้ ก็ให้ตรวจไปตามนั้น

เกณฑ์การตัดสินได้-ตก

  • การให้คะแนนธรรมศึกษาทุกชั้น มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

    ๑.๑ ธรรมศึกษาทุกชั้น ให้ถือ ๔๐๐ คะแนนเป็นเกณฑ์ วิชาทุกวิชาคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน เมื่อรวมคะแนนของทั้ง ๔ วิชาแล้ว ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๒๐๐คะแนน ถือว่าสอบได้ ต่ำกว่า ๒๐๐ คะแนน ถือว่าสอบตก

    ๑.๒ ธรรมศึกษาทุกชั้น เมื่อตรวจดูคะแนนของแต่ละวิชาที่ได้แล้วหากมีวิชาใดวิชาหนึ่ง ได้คะแนนต่ำกว่า ๒๕ คะแนน แม้จะรวมครบทุกวิชาแล้วได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็ตาม ให้ถือว่าการสอบครั้งนี้เป็นการสอบตกด้วย

    ๑.๓ ธรรมศึกษาทุกชั้น ต้องสอบทั้ง ๔ วิชา ถ้าขาดสอบวิชาใดวิชาหนึ่ง สนามหลวงแผนกธรรมไม่รับพิจารณา ให้อยู่ในเกณฑ์สอบตก

    ๑.๔ วิชาที่ตอบต้องได้คะแนนทุกวิชา จึงจะยอมรับรวมคะแนนได้หากเกิดวิชาใดวิชาหนึ่งไม่ได้คะแนนแม้แต่คะแนนเดียว หรือได้ต่ำกว่า ๒๕ คะแนนก็ห้ามรวมคะแนน ปรับเป็นตก แม้รวมทุกวิชาแล้ว จะได้คะแนนสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ตาม
วิธีการศึกษา
  1. ศึกษาเนื้อหาไปตามลำดับ และทำแบบทดสอบในแต่ละตอน เสร็จแล้วตรวจคำตอบจากเฉลยท้ายบทเรียน
  2. ฟังการบรรยาย-สอบถาม พระอาจารย์ หรือท่านผู้รู้
  3. ค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การประเมินผล
  • ทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน
  • เข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน(กรณีที่มีการเรียนการสอน)
  • สังเกตจากพฤติกรรม ตลอดถึงทัศนคติของผู้เรียน
  • เข้าสอบธรรมสนามหลวง
  • ผู้เรียนนำหลักธรรมคำสอนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
 






 

 
 
 
 
สงวนลิขสิทธิ์ 2552 ติดต่อผู้ดูแลเวบไซด์